1. ส่วนที่ปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น รถยนต์ควันดำ การเผาขยะ การเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร และกิจกรรมใดก็ตามที่ก่อให้เกิดควัน แม้แต่การจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่นเดียวกัน
2. ส่วนที่มาจากการทำปฏิกิริยาของมลพิษประเภทก๊าซในบรรยากาศ โดยก๊าซแอมโมเนียจากภาคการเกษตร รวมกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากภาคขนส่งและอุตสาหกรรม
3. ส่วนที่มาจากธรรมชาติ เช่น เมื่อคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ละอองน้ำทะเลกระจายออกสู่บรรยากาศ เมื่อส่วนที่เป็นน้ำระเหยไป ก็จะเหลือแต่ละอองเกลือซึ่งมีขนาดเล็กมาก เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ PM2.5 เช่นเดียวกัน
4. ส่วนที่มาจากต่างประเทศ เนื่องจากฝุ่นละออง PM2.5 มีขนาดเล็ก จึงลอยขึ้นสู่บรรยากาศได้สูงและสามารถถูกกระแสลมพัดพาไปเป็นระยะทางไกล เรียกกระบวนการนี้ว่า "มลพิษข้ามแดน"
ในประเทศไทย แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่แตกต่างกันไป 4 ส่วนที่กล่าวมานี้ อาจจะมีส่วนใดมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ดั้งนั้นการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ จึงเริ่มจากการศึกษาแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มข้นและตรงจุด แล้วจึงมีการรวมศูนย์เพื่ออำนวยความสะดวกของการบริหารจัดการ เป็นระดับภาค และระดับประเทศต่อไป
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีทั้งในเมืองและนอกเมือง เร่ิมตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม
สำหรับในตัวเมืองกรุงเทพฯ สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จะมาจากควันรถเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่เมืองเชียงใหม่ สาเหตุจะมาจากปัญหาการจราจรในเมือง ผสมกับควันจากการเผาป่าเพื่อเตรียมทำพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นในหน้าแล้งประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน และจะหนักมากช่วงเดือนธันวาคมยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะที่ภาคใต้ จะเกิดจากไฟป่า
แต่ปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยาสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็คือ การจราจร และสภาพอากาศ ในเมื่อมีปริมาณรถมีเท่าเดิมทุกฤดูกาล แต่กลับมีฝุ่น PM2.5 สูงในหน้าหนาว เนื่องจากช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนตุลาคม จนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะเกิดสภาพอากาศปิด ลมสงบ และชั้นบรรยากาศผกผัน (inversion) ส่งผลให้มลพิษอากาศโดยเฉพาะมลพิษฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศไม่มีการกระจายตัว จึงทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่มีความเข้มข้นสูง
15 ตุลาคม 2563
ผู้ชม 892 ครั้ง