การสอบสวนทั่วไป
มีการกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยกเป็นข้ออ้างข้อเถียงได้นานานัปการจนถึงขั้นมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา เพื่อกำหนดและกำชับแนวทางการปฏิบัติงานด้านการสอบสวนของตำรวจโดยอ้างว่าจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน แต่ผู้ร่างกฎหมายดังกล่าวหลงลืมไปว่าการสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงหน่วยงานเดียว ยังคงมีหน่วยงานอื่นที่บังคับใช้กฎหมายอีกหลายหน่วยงาน ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา แต่ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นไว้แต่อย่างใด ยกตัวอย่างปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายบางหน่วยซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาปล่อยให้คดีสำคัญบางคดีขาดอายุความไปทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง โดยขาดการตรวจสอบติดตาม ผู้เรียบเรียงจึงเห็นร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าว มิใช่หนทางแก้ไข หรือจะเป็นสิ่งที่จะสร้างหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชนในเรื่องของการสอบสวนคดีอาญา เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงเจตนาและทัศนคติของผู้ร่างกฎหมายดังกล่าวต่อการปฏิบัติงานด้านการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเป็นผลผลิตของวาทะกรรมทางการเมืองเท่านั้น
ผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและอดีตผู้บังคับบัญชาหลายท่านได้ทุ่มเทและผลักดันการแก้ไขปัญหาการทำงานของพนักงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เรียบเรียงเห็นว่าแม้จะใช้เวลานานพอสมควร แต่ก็เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงเรียกร้องจากผู้ปฏิบัติงานสอบสวนอีกมากมายที่ต้องการให้ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจและช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นหลักประกันความมั่นใจและได้รับความคุ้มครองระหว่างปฏิบัติงานสอบสวน เนื่องจากการสอบสวนมิใช่เพียงวิชานิติศาสตร์ แต่อาจเป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ ที่มีหลักการเรียนรู้เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นระเบียบของสังคมให้สอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ปรองดองและมีความสุข ตลอดจนสร้างความพึงพอใจต่อผู้รับบริการ จึงไม่อาจมีหลักและทฤษฎีที่แน่นอนได้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาวะทางสังคมในแต่ละยุค
ผู้เรียบเรียงเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่จะกระทำได้เพื่อให้พนักงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกิดความมั่นใจในการทำงานและเป็นหลักประกันคุ้มครองการทำงาน คือการรวบรวมแนวทางการปฏิบัติงานด้านการสอบสวนคดีอาญาในมิติต่างๆ ตามลำดับขั้นตอนของการสอบสวนคดีอาญา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการสอบสวนคดีอาญา แม้ปัจจุบันจะมีหนังสือตำรา คู่มือเกี่ยวกับการสอบสวนอยู่บ้างแล้ว อาทิเช่น ของท่าน รศ.พ.ต.อ.กู้เกียรติ เจริญบุญ, พ.ต.อ.ธีสุทธิ์ พันธ์ฤทธิ์, พ.ต.ท.สนธยา รัตนธารส เป็นต้น แต่ผู้เรียบเรียงเห็นว่ายังน้อยเกินไปกับความต้องการของพนักงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการเข้าถึงคู่มือหรือหนังสือดังกล่าว หนังสือ “การสอบสวนทั่วไป” เล่มนี้ เรียบเรียงและจัดทำขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองข้อเรียกร้องของพนักงานสอบสวนให้เกิดความมั่นใจในการทำงานและเป็นหลักประกันคุ้มครองการทำงาน ผู้เรียบเรียงพร้อมปรับปรุงเนื้อหาในคู่มือเล่มนี้ในทันสมัยครบถ้วนตลอดเวลา หากได้รับคำแนะนำ ข้อเสนอจากปรมาจารย์ด้านการสอบสวนที่ชี้แจงเข้ามา และขอน้อมรับความผิดพลาดทุกประการไว้ด้วยความยินดียิ่ง
11 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้ชม 1215 ครั้ง