สกุลเงิน
ภาษา
ตะกร้าสินค้า

การบริหารและการวางแผน การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

การบริหารและการวางแผน การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
กรณีศึกษา : องค์กรอาชญากรรมยาเสพติด นายฐปนันทน์ ธรรมรัตน์ธาดา

         
               การสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญาในทางทฤษฎีอาจแยกการศึกษาและการทำความเข้าใจออกจากกันได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วการสืบสวนและสวนสอบคดีอาญาไม่อาจแยกออกจากกันด้วยเหตุที่ว่าขั้นตอนและวิธีการตลอดจนสาระสำคัญของกฎหมาย มีความสอดคล้องสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เพราะในคดีอาญานั้นหัวใจหรือแก่นของคดีคือ พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำไปสืบต่อหน้าศาล และศาลจำต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดและได้กระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ดังนั้น พยานหลักฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญในคดีอาญา ซึ่งในหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น การได้มาซึ่งพยานหลักฐาน จะเริ่มตั้งแต่กระบวนการหรือวิธีการสืบสวน ซึ่งได้แก่การเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ก่อนที่จะส่งมอบข้อเท็จจริงและหลักฐานเหล่านั้นต่อพนักงานสอบสวน เพื่อจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นทางคดีในการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาต่อไป

          ในอดีตที่ผ่านมา การคลี่คลายคดีสำคัญจำนวนหลายคดีประสบความสำเร็จ เพราะปรมาจารย์ด้านการสืบสวนและสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาเป็นอย่างดี จึงสามารถบริหารจัดการและวางแผนทางคดี ตลอดจนถึงการตั้งรูปคดีได้อย่างเหมาะสมสอดคล้อง จึงทำให้คดีต่างๆ ถูกคลี่คลายและสามารถจับกุมตัว และนำตัวผู้กระทำความผิดมาส่งฟ้องต่อศาล จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดเหล่านั้นได้ แต่ในยุคการศึกษาทางกฎหมายและการปฏิบัติในบางช่วงบางเวลา มีนักวิชาการและผู้รู้จำนวนมาก พยายามแสดงออกถึงองค์ความรู้ที่ตนศึกษามาจากหนังสือหรือตำรา โดยแยกขั้นตอนการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญาออกจากกัน จนทำให้ถึงจุดมืดบอดของการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาหรืออาจกล่าวได้ว่าคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายคดีนั้น ไม่ได้รับการคลี่คลาย หรือไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงเกิดแนวคิดเตลิดเปิดเปิงไปจนถึงการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญาขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยกำกับการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งแท้จริงแล้วนักวิชาการหรือผู้รู้เหล่านั้น หารู้ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ฝ่ายสืบสวนและสอบสวนต่างคนต่างทำในงานของตนเอง โดยไม่ประสานสัมพันธ์สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกัน

       ปัญหาและความกังวลดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคปัจจุบันได้มองเห็นและพยายามจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยบางท่านมีแนวคิดที่จะผนวกองค์ความรู้ด้านการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญาไว้ด้วยกันเหมือนเช่นเดิมในอดีต กล่าวคือ มีแนวคิดว่าพนักงานสอบสวนต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสืบสวนคดีอาญา และเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนจะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการสอบสวนคดีอาญาด้วยเช่นกัน จึงจะทำให้พยานหลักฐานต่างๆที่เสาะแสวงหามานั้น สามารถใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทางอาญาได้

          หนังสือ “การบริหารและการวางแผน การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา” เล่มนี้ จุดประกายมาจากแนวคิดที่จะให้เจ้าพนักงานตำรวจมีความเข้าใจอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน ทั้งในมิติของการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา โดยครั้งนี้ผู้เรียบเรียงได้นำตัวอย่างสำนวนในคดีอาญา “องค์กรอาชญากรรมยาเสพติด กรณีศึกษานายฐปนันทน์ ธรรมรัตน์ธาดากับพวก” มาแจกแจงขั้นตอนการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการดำเนินการที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน โดยจะเห็นว่าผู้สืบสวนและผู้สอบสวนเป็นบุคคลเดียวกันที่ร่วมกันคลี่คลายคดีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการสืบสวนจนถึงการทำความเห็นทางคดีในชั้นสอบสวน จนทำให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้ จึงหวังว่าการศึกษาในหัวข้อเรื่องการบริหารและการวางแผน การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยดำเนินการให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ และตอบสนองในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน



03 มีนาคม 2564

ผู้ชม 2287 ครั้ง

Engine by shopup.com